ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี | |||||||||
คำพิพากษาของศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2560ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1112 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งใช้ค่าหุ้นตามวันกำหนด จำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ แม้ตามมาตรา 1123 บัญญัติว่า "ถ้าผู้ถือหุ้นคนใดละเลยไม่ส่งใช้เงินที่เรียกค่าหุ้นตามวันกำหนด กรรมการจะส่งคำบอกกล่าวด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้นั้น ให้ส่งใช้เงินที่เรียกเก็บกับทั้งดอกเบี้ยด้วยก็ได้" ก็มิได้หมายความว่าหากโจทก์ไม่ได้แจ้งเรื่องการคิดดอกเบี้ยในหนังสือบอกกล่าวที่ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้วจะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัด แต่มาตรา 7 บัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี" และมาตรา 224 บัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี..." ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นับแต่วันที่กำหนดส่งใช้เงินค่าหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 และมาตรา 224
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9782/2554 คำให้การของจำเลยทั้งสอง ข้อ 1.1 จำเลยที่ 1 ให้การว่า ได้รมควันแผ่นยางดิบที่ได้รับจากโจทก์ และส่งมอบแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยอมรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างรมควันยางแผ่นดิบให้แก่โจทก์และส่งมอบแผ่นยางดิบรมควันคืนแก่โจทก์ตามสัญญาครบถ้วนแล้วส่วนคำให้การของจำเลยทั้งสอง ข้อ 1.2 จำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่า ไม่เคยได้รับมอบยางแผ่นดิบจากโจทก์ เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับมอบยางแผ่นดินจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องคืนยางแผ่นดิบจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ คำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวมิได้กล่าวถึงยางจำนวนเดียวกัน จึงเป็นการแสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น โดยชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง หาขัดแย้งกันไม่ โจทก์ซื้อยางแผ่นดิบตามฟ้องจากพ่อค้าหรือเกษตรกรตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้โจทก์กู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเงินไปซื้อยางแผ่นดิบในราคาสูงเพื่อพยุงราคายางพาราแก่เกษตรกรแล้วนำไปว่าจ้างจำเลยที่ 1 รมควันแล้วนำไปขาย โจทก์จะได้กำไรหรือขาดทุนจากการขายยางแผ่นดิบรมควันก็ขึ้นอยู่กับราคายางพารารมควันในท้องตลาดในขณะที่โจทก์นำไปขาย ดอกเบี้ยที่โจทก์ต้องชำระแก่ธนาคารเป็นเพียงค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปจากการดำเนินการเพื่อพยุงราคายางพาราแก่เกษตรกรเท่านั้น หาได้เป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตามที่โจทก์ฎีกา ทั้งโจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายสืบเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบยางแผ่นรมควันแก่โจทก์อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถนำยางแผ่นรมควันไปขายจนได้กำไรตามจำนวนที่ขอ หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถคืนแผ่นยางดิบแก่โจทก์ได้ โจทก์คงคิดดอกเบี้ยจากราคายางแผ่นดิบที่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนแก่โจทก์ได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 7 เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6615/2553เมื่อสัญญายังไม่เลิกกันเพราะการบอกเลิกสัญญาของจำเลย คู่สัญญาจึงยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญา กล่าวคือ โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระราคาส่วนที่เหลือและจำเลยมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้องแก่โจทก์ แต่ได้ความตามคำให้การของจำเลยว่าจำเลยได้โอนขายห้องชุดทั้งสองห้องแก่บุคคลภายนอกไปแล้วก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญา ดังนี้ การชำระหนี้ของจำเลยในการที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์จึงกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำของจำเลยโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยอาจซื้อห้องชุดคืนมาโอนให้โจทก์ได้หรือไม่ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 389 โดยหาจำต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ตามมาตรา 387 ก่อน การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้ว เมื่อสัญญาเลิกกันเพราะโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม กล่าวคือ จำเลยจำต้องคืนราคาห้องชุดที่โจทก์ชำระแล้วแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้ ทั้งนี้ตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ประกอบมาตรา 7
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1608/2552แผ่นพับโฆษณาของจำเลยระบุว่า สำนักงานขายของจำเลยอยู่เลขที่ 632/134 ถนนพระปิ่นเกล้า บางยี่ขัน บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร หนังสือแจ้งนัดหมายโจทก์ตรวจรับห้องชุด และหนังสือชี้แจงความคืบหน้าโครงการอาคารชุดก็ระบุว่าบริษัทจำเลยอยู่ที่บ้านเลขที่ดังกล่าวเช่นกัน แสดงว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นสำนักงานสาขาของจำเลย จึงเป็นภูมิลำเนาในส่วนกิจการอันได้กระทำ ณ สถานที่นั้นด้วย ตามป.พ.พ. มาตรา 69 สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกำหนดให้จำเลยคืนเงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งไม่ชัดแจ้งว่ามีอัตราเท่าใด จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 ที่ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1608/2552สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาท ระบุว่า ผู้จะขายตกลงว่าจะพยายามดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพร้อมจดทะเบียนอาคารชุดให้เสร็จภายในประมาณปีพ.ศ.2541 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทกับจำเลยโดยมุ่งหมายจะได้รับประโยชน์จากการใช้สอยห้องชุด โดยมั่นใจว่าโครงการจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามที่ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขาย กำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของสัญญา จำเลยมีหนังสือชี้แจงความคืบหน้าโครงการอาคารชุด ลงวันที่ 18 มีนาคม 2542 ไปถึงโจทก์ ระบุชัดเจนว่าจำเลยคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างห้องชุดให้แล้วเสร็จและแจ้งการรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ในไม่ช้านี้ แสดงว่าจำเลยก่อสร้างห้องชุดพิพาทไม่แล้วเสร็จในปี 2541 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทได้ แผ่นพับโฆษณาของจำเลยระบุว่า สำนักงานขายของจำเลยอยู่เลขที่ 632/134 ถนนพระปิ่นเกล้า บางยี่ขัน บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้หนังสือนัดหมายโจทก์ตรวจรับห้องชุด และหนังสือชี้แจงความคืบหน้าก็ระบุว่าจำเลยมีที่อยู่ดังกล่าวเช่นกัน แสดงว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นสำนักงานสาขาของจำเลยจึงเป็นภูมิลำเนาในส่วนกิจการอันได้กระทำ ณ สถานที่นั้นด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 69 โจทก์ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาไปถึงจำเลย ณ สถานที่ดังกล่าว และจำเลยได้รับแล้ว การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย การที่สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ข้อ 11 กำหนดให้จำเลยคืนเงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ซึ่งไม่ชัดแจ้งว่ามีอัตราเท่าใด จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 ที่ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี |